Answerman – นักพากย์ย้ายสังกัดนี่ เรื่องใหญ่แน่เหรอ?

Share

Rajkovic ถาม:

มันเป็นเรื่องใหญ่หรือเปล่า เวลานักร้อง/นักพากย์ ตัดสินใจย้ายสังกัด/เอเจนซีหลังจากหมดสัญญาแล้ว? มันจะเป็นการยากกว่างั้นเหรอที่นักพากย์จะทำงานเป็นฟรีแลนซ์ที่ไม่มีสังกัดสนับสนุน?

Answerman ตอบ:

อาจจะเป็น “เรื่องใหญ่” สำหรับคนที่มองเข้ามาในวงการ แต่ถ้าเป็นสำหรับคนในวงการบันเทิงแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไหร่นัก ผลพวงของการเปลี่ยนสังกัด/เอเจนซี่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของวงการบันเทิงไปแล้ว ผลของมันอาจจะไม่ได้กระทบต่อการรับรู้ของผู้เสพสื่อบันเทิงปลายทางเท่าไหร่นัก จนบางครั้งอาจจะแทบบอกไม่ได้ว่า ย้ายค่ายแล้วมีผลเสียอย่างไรบ้าง อย่างในกรณีของดาราระดับฮอลลีวูดที่ทำการย้ายค่ายนั้น นิตยสารข่าวบันเทิงแนว ‘เจาะลึกวงใน’ ซึ่งจะเอาข่าวย้ายค่ายมาเมาท์มอยกัน (ส่วนหนึ่งก็เพราะสังกัดใหม่มักจะเกี่ยวข้องกับการพยายามโปรโมทเรื่องนี้ด้วย) อาจจะมีบ้างในกรณีที่ดาราเบอร์ใหญ่ของ สังกัด/เอเจนซี่ ทำการย้ายค่ายแล้วกระทบศิลปินคนอื่นๆ ไปด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วฝั่งผู้บริโภคก็จะไม่ได้รับผลกระทบอะไรนัก

HoriPro 1 ในเอเจนซีเจ้าใหญ่ที่ดูแลทั้ง นักพากย์ นักร้อง นักแสดง / ภาพโดย – Kentin

วิธีการทำงานของ สังกัด/เอเจนซี คือการจัดการงานให้กับคนที่มีทักษะต่างๆ ถ้าในสายงานนักแสดง คือการที่ทางสังกัดจะทำการส่งชื่อไปยังบริษัทจัดหานักแสดง หรือส่งนักแสดงไปออดิชั่นบทใหม่ๆ ที่เหมาะสมและเจ้าตัวสนใจ หรือถ้าอธิบายเร็วๆ ก็คือการ แนะนำ หรือ ชี้ทาง ว่าทำอย่างไรดาราถึงจะถูกจ้าง ส่วนกลุ่มคนที่มีทักษะสูง ฝั่ง สังกัด/เอเจนซี่ จะเป็นฝ่ายเข้าไปเจรจากับทีมผู้สร้างผลงาน อย่างในกรณีของภาพยนตร์ก็จะเป็นการเจรจากับ นักแสดง หรือ ผู้กำกับ และจะมีการพูดคุยเรื่อง ‘แพ็คเกจ’ ว่ามีเด็กในสังกัดคนไหนจะไปแทรกในงานที่กำลังสร้างอยู่ได้บ้าง อย่างเช่น ถ้าทำค่ายหนังอยากได้ ดารา A ที่เป็น ซุป’ตาร์ เขาอาจจะต้องจ้าง ดารา B หน้าใหม่ เล่นบทสมทบในหนังอีกเรื่องที่บทยังว่างอยู่เป็นอาทิ

แต่สำหรับ นักพากย์ นั้นถือว่าเป็นงานที่โดดเด่นน้อยกว่า นักแสดงภาพยนตร์/ละคร อย่างมา ดังนั้น สังกัด/เอเจนซี จะไม่ได้ทำการขายงานแบบ ‘แพ็คเกจ’ เท่าไหร่ อย่างไรก้ตาม นักพากย์ในญี่ปุ่น ยังต้องการให้สังกัด/เอเจนซี ในการช่วยนำเสนอผลงาน และ สนับสนุนการทำงานอยู่ดี อาทิ การที่ สังกัด/เอเจนซี่ ทำให้ชื่อของนักพากย์ไปปรากฎสะดุดตา คณะกรรมการสร้างผลงาน จนมีโอกาสได้ไปเข้าออดิชั่นได้อย่างง่ายกว่าปกติ หรือบางที สังกัด/เอเจนซี อาจจะยื่นขอเสนอให้ งานชิ้นหนึ่ง ใช้นักพากย์ทุกคนจากสังกัด/เอเจนซีของเขา และมีบางกรณีที่ สังกัด/เอเจนซี ไปอยู่เป็นคณะกรรมการสร้างผลงาน (ซึ่งเป็นการประกันว่าจะใช้นักพากย์จากสังกัดใดเป็นหลัก) อย่างไรก็ตาม นักพากย์ญี่ปุ่นไม่ได้รบงานเฉพาะการพากย์อนิเมะเพียงอย่างเดียว พวกเขายังมีโอกาสรับงานอื่นๆ อย่าง พากย์วิชชวลโนเวล, ดราม่าซีดี, ออกรายการวิทยุ หรือแม้แต่ออกขายเพลง ด้วยลักษณะงานที่สามารถรับได้เยอะขนาดนี้ จึงค่อนข้างมีเหตุผลที่จะหาคนมาช่วยบริหารการรับงาน หรือ การออกไปโปรโมทในอีเวนท์ต่างๆ

นอกจากนั้นแล้ว ในวงการนักพากย์ญี่ปุ่น ฝั่งผู้คัดเลือกนักพากย์ก็รู้สึกโอเคกับการอาศัย สังกัด/เอเจนซี ในการตีวงคนทำงานที่สามารถจัดการได้ สมมติว่ามีการจัดทำอนิเมะเรื่องหนึ่ง ถ้าทำการเปิดออดิชั่นแบบเปิดให้กับทุกบทบาท แค่การออดิชั่นเพื่อหานักพากย์ใหม่สดก็อาจจะต้องเสียเวลาเฉพาะออดิชั่นสักประมาณปีหนึ่งแล้ว การที่ผู้คัดเลือกนักพากย์ไปติดต่อ สังกัด/เอเจนซี แล้วระบุไปว่าบทที่มีเป็นลักษณะไหน แล้วนักพากย์คนไหนที่ทางสังกัด/เอเจนซีจะแนะนำขึ้นมา ความสัมพันธ์ในแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าเช่นนี้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับวงการบันเทิงแทบจะทั่วทั้งโลก

สำหรับประเทศไทย ในฝั่งนักพากย์อาจจะไม่ได้เป็นในรูปแบบมี สังกัด/เอเจนซี่ ในรูปแบบบริษัทชัดๆ เท่าไหร่นัก โดยหลักแล้วการทำงานพากย์จะทำเป็นรูปแบบ ‘ทีมพากย์’ ซึ่งมีการรวมตัวเกิดขึ้นได้หลายๆ แบบ ทั้งจากการรวมตัวเป็น ทีมพากย์โดยเฉพาะ (อย่าง ทีมพันธมิตร) หรือ อาจจะมาจากการฟอร์มทีมกันในการทำงานร่วมกันนานๆ (อย่าง ทีมของช่องเก้าการ์ตูน) หรืออาจจะเป็นทีมของค่าย, บริษัท หรือ ห้องอัดเสียงต่างๆ (อย่าง ทีมของดิสนีย์ หรือ ทีมของทรูวิชั่น) ซึ่งการรวมทีมนั้นก็เป็นไปเพื่อความสะดวกในการรับงานลักษณะเดียวกับรูปแบบ สังกัด/เอเจนซี ในขณะเดียวกัน นักพากย์ในไทยซึ่งอาจจะมีทีมเป็นหลักอยู่แล้ว ก็สามารถกระโดดไปรับงานอื่นๆ ได้บ้างเช่นกัน เนื่องจากในประเทศไทยอาจจะมีการออดิชั่นนักพากย์น้อยกว่าญี่ปุ่น (แต่เคยได้ยินมาว่า อย่าไปรับจ็อบนอกบ่อย เดี๋ยวตกงานหลักอยู่บ้างเหมือนกัน)

กลับมาเสวนาถึงการทำงานโดยมี สังกัด/เอเจนซี่ กันอีกสักเล็กน้อย โดยปกติ กลุ่มผู้จัดการบริหารบุคลากรแบบนี้ ก็จะมีโอกาสได้รับรายได้แตกต่างกันไป บางเจ้าอาจจะใช้วิธีหักเงินรายได้ของนักพากย์ในสังกัดงานละ 10% (หรือมากกว่าน้อยกว่าแล้วแต่ตกลง) เข้าสู่สังกัด/เอเจนซี่ หรือ บางเจ้าอาจจะใช้วิธีรับรายได้โดยตรงเข้าตัว สังกัด/เอเจนซี่ แล้วค่อยจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับคนในสังกัดอีกทีหนึ่ง กระนั้นความสัมพันธ์ของ ดาราในสังกัด กับ ตัวสังกัด/เอเจนซี่ เอง ก็มักจะมีอะไรชวนดราม่าเกิดขึ้นได้ ทั้งในแง่การงานหรือการเงิน

ตัวอย่างเช่น ดารา A ที่เล่นบทแนวใสๆ แบ๊วๆ มาตลอด ก็อาจจะรำคาญที่สังกัด/เอเจนซี่คัดเลือกบทแนวเดิมๆ ไม่ใช่บทที่พวกเขาอยากจะเล่นบ้าง ก็อาจจะเป็นต้นเหตุให้เขาตัดสินใจย้ายสังกัด / ดารา B ทำงานรัวๆ มาตลอดปี แล้วเพื่อนร่วมค่ายอาจจะทำงานเยอะแต่พบว่าตัวเองได้รายได้เสมอกับคนที่นานๆ ออกงานที ก็อาจจะตัดสินใจย้ายไปสังกัดอื่น

คาจิอุระ ยูกิ เป็นกรณีศิลปินที่ย้ายสังกัดแล้วถือว่ากระทบต่อสังกัดเก่า แต่จุดเริ่มต้นของการย้ายกล่าวกันว่ามาจากการทำงานที่ราบรื่นระหว่างเธอกับผู้จัดการคนใหม่

ซึ่งก็จะเป็นเหตุการณ์ที่ตกลงกันแบบไม่ลงรอยนี่เอง ที่จะทำให้ดาราตัดสินใจย้ายสังกัด (หรือในกรณีแง่ที่เป็นดาราดังมากๆ จะมีข่าวว่า ‘ไล่ผู้จัดการออก’ แทน) แล้วโยกย้ายไปยัง สังกัด/เอเจนซี อื่นที่มีแนวทางตรงกับการทำงานที่ดาราคนนั้นต้องการแทน ซึ่งหลายๆ ทีการโยกย้ายเปลี่ยนสังกัด/เอเจนซีก็ไม่ได้มาจากกรณีเปลี่ยนค่ายอย่างหุนหันพลันแล่น แต่เป็นการพูดคุยกับคนที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกันในวงการ และมีการพูดจาทำความเข้าใจแนวทางการทำงานกันก่อนแล้วเสียด้วยซ้ำ นี่คือเหตุผลที่บอกได้ว่าส่วนใหญ่แล้ว การโยกย้ายสังกัดจึงไม่กระทบอะไรมากนัก นานๆ ครั้ง ถึงจะมีรีแอคชั่นแรงๆ อย่าง กรณีของ คุณคาจิอุระ ยูกิ หรือ SMAP ที่ตัวดาราอยากจะย้ายค่ายแล้วส่งผลกระทบไปจนทำให้มีการแตกวงได้

แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เรื่องราวการย้ายค่ายเป็นเรื่องผลประโยชน์ภายใน ที่คนนอกไม่จำเป็นต้องจะรู้รายละเอียดไม่มากนัก เพราะฉะนั้นถ้ามีข่าวว่า นักพากย์ ดารา นักร้อง มีการย้ายค่ายขึ้นมา สิ่งที่แฟนๆ แบบเราพอทำใจได้ก็คือการภาวนาพวกเขาเหล่านั้นโชคดีในการตัดสินใจย้ายสังกัด หรือไปเป็นฟรีแลนซ์รับงานเองก็ตามที

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*