Answerman: คนเขียนมังงะอยู่ได้ยังไงถ้าไม่มีงานออกตีพิมพ์ ?

Share

คำถาม:

คนเขียนมังงะอยู่ได้ยังไงถ้าไม่มีงานออกตีพิมพ์ ?

 

คำตอบ:

อา… ชีวิตของเหล่านักเขียนมังงะ… ในระหว่างที่นักเขียนดังๆ สร้างผลงานฮิตๆ กวาดรายได้ไปเพียบ แต่นักเขียนมังงะส่วนใหญ่ (ทั่วทั้งโลก) ก็จะอยู่ในสถานที่จะต้องไต่เต้าขึ้่นไปในอนาคต

แล้วนักเขียนมังงะกลุ่มนี้จะจ่ายค่ากิน ค่าอยู่ อย่างไรถ้ายังไม่ได้มีงานออกตีพิมพ์ พอดีว่าคำถามไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ‘นักเขียนมังงะ’ เป็นนักเขียนกลุ่มไหนนักเขียนหน้าใหม่, เป็นผู้ช่วยแล้วเก็บฝีมืออยู่ หรือ เป็นนักเขียนที่มีผลงานตีพิมพ์จบลงแล้วกำลังรอจะปล่อยงานเรื่องต่อไปอยู่

แต่ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนประเภทไหนก็ตาม พอมังงะเรื่องหนึ่งจบลงแล้วจะทำเงินได้อย่างไร บอกได้เลยว่า … มันก็แล้วแต่คนอ่ะนะ แต่ก็ยังพอจะจำแนกประเภทได้เล็กน้อยตามนี้

 

กรณีของนักเขียนมังงะที่ยังไม่ได้เดบิว หรือ นักเขียนมังงะหน้าใหม่

My Solo Exchange Diary / ภาพจาก – Amazon.com

อย่างในกรณีนักเขียนมังงะหน้าใหม่ที่งานยังไม่นิ่งมากนัก ก็จะต้องทำอะไรเหมือนๆ กับปุถุชนคนทั่วไปในการหาเลี้ยงตัวเอง นั่นก็คือ… ทำงานล่ะครับ เพียงแค่ว่าพวกเขาอาจจะทำงานอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานสายการ์ตูนไปเลยด้วย หรือถ้าไม่ทำงานก็ต้องพึ่งพิงกำลังการเงินของที่บ้าน ตัวอย่างที่มีบอกเล่าไว้ชัดๆ ก็คือ อาจารย์นากาตะ คาบิ ผู้เขียนมังงะเรื่อง My Lesbian Experience with Loneliness กับมังงะภาคต่อ My Solo Exchange Diary ที่ในเรื่องหลังอาจารย์ได้อธิบายเรื่องราวความเป็นอยู่กับการใช้เงินของเธอในฐานะนักเขียนมังงะ แม้ว่างานเรื่องแรกจะได้รับความนิยมระดับนานาชาติแล้วก็ตามที

แต่กรณีว่าถ้าที่บ้านไม่ยอมช่วยเหลือ งานหลายๆ อย่างที่นักเขียนมังงะต้องพึ่งพิงช่องทางอื่นๆ อย่างการเขียนโดจินชิ, ไปเป็นผู้ช่วยของนักเขียนท่านอื่น หรือทำงานฟรีแลนซ์ในสายงานการ์ตูนไปก่อน อาทิ วาดภาพอิลลิสท์, ออกแบบตัวละครให้กับอนิเมะ/หนัง/เกม, เขียนสตอรี่บอร์ด หรือ อาจจะทำงานสายกราฟฟิกดีไซน์ควบคู่กันไปเป็นอาทิ

 

กรณีของนักเขียนที่มีผลงานยาวมาแล้วระยะหนึ่ง

ส่วนกรณีของนักเขียนที่มีผลงานยาวมาก่อนแล้วนั้น หลายๆ ท่านจะยังได้รับส่วนแบ่งจากการพิมพ์ซ้ำ หรือ ทำสินค้าขายขายอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ว่า! นักเขียนมังงะส่วนมากไม่ได้โอกาสทำของเล่นหรือของของขาย, ไม่มีทางที่ใครจะจับเอางานไปสร้างเป็นอนิเมะ รวมถึงว่าอาจจะไม่มีทางโดนไปสร้างเป็นฟิกเกอร์หรือแม้แต่พวงกุญแจเล็กๆ เพราะกลุ่มคนที่ถูกนำเอาไปสร้างงานลักษณะดังกล่าวก็มีแค่นักเขียนจำนวนไม่มากเท่านั้น และต่อให้เป็นนักเขียนที่มีฝีมือกับดวงได้ถูกสร้างสินค้าไปขาย ก็ใช่ว่าการขายของเหล่านั้นจะอยู่นานมากนัก

ถ้ามังงะเรื่องเดียวขายดีไร้เทียมทาน เราคงไม่ได้เห็นฟิกเกอร์ตัวนี้ / ภาพจาก – Goodsmile.info

ยกตัวอย่างเช่น มังงะเรื่อง Black Cat ของอาจารย์เคนทาโร่ ยาบุกิ อาจจะดังจนถึงมีการสร้างเป็นอนิเมะ ได้ออกฟิกเกอร์ ปรากฎตัวในเกมบางเกม มีเสื้อยืดออกมาบ้าง แต่สินค้าเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำการขายในตลาดอย่างยาวนานนัก เต็มที่ก็แค่ราวๆ 5 ปี ในช่วงที่มีอนิเมะฉายอยู่ หลังจากนั้นแล้วถ้าไม่มีภาคต่อหรือโอกาสพิเศษ (อาทิ นิตยสารโชเน็นจัมพ์ครบรอบ 40 ปี) ก็จะไม่มีสินค้าใดๆ ออกมาอีก ด้วยเหตุนี้สุดท้ายอาจารย์เคนทาโร่ ก็ต้องเขียนผลงานใหม่

ส่วนนักเขียนที่ในยุคนี้อยู่นิ่งๆ ก็เก็บเงินค่าลิขสิทธิ์ได้เรื่อยๆ ก็พอมีตัวอย่างบ้าง อาทิ อาจารย์โทริยาม่า อากิระ, อาจารย์โอดะ เออิจิโระ, อาจารย์คิชิโมโตะ มาซาชิ, อาจารย์ทาคาฮาชิ คาซุกิ ฯลฯ แต่ถ้าสังเกตดีๆ นักเขียนเหล่านี้ก็ยังปั้นผลงานใหม่ออกมาอีกเรื่อยๆ หรือไม่ก็กินตำแหน่งงานอื่นควบไปด้วย ดังนั้นการที่จะเขียนเรื่องให้ฮิตแล้วดังจนไม่ต้องทำงานอะไรต่อนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เป็นไปได้อยู่ดี

 

กรณีหาอาชีพรองทดแทน

เขียนมังงะได้ไม่เท่าไหร่ แต่ ฮาระ คาสุฮิโระ ก็ออกแบบตัวละครให้ทั้ง Gundam Buildivers, Log Horizon / ภาพจาก – https://twitter.com/harapand/status/999360098299396097

ในบางกรณี นักวาดภาพประกอบหรือนักออกแบบตัวละครฟรีแลนซ์นั้นจะมีรายได้ที่มากกว่าคนเขียนมังงะตามปกติเสียอีก ถึงขั้นที่ว่ามีนักเขียนมังงะหลายคนตัดสินใจจะเทงานมังงะ (หรืออาจจะเขียนแบบช้ามากๆ) แล้วทุ่มเทเวลาให้กับการวาดภาพประกอบหรือออกแบบตัวละครเสียมากกว่า ตัวอย่างเช่น อาจารย์คุโบโนอุจิ เอย์ซาคุ ผู้วาดมังงะเรื่อง Choclat แต่เป็นที่จดจำจากการออกแบบปก CD ให้กับวงดนตรีหลายวงและเป็นผู้ออกแบบตัวละครของโฆษณาชุด Hungry Days ของนิชชินคัพนู้ดเดิล, อาจารย์เทราดะ คัทสึยะ ที่เคยเขียนมังงะเรื่อง Saiyukiden ก่อนจะโยกย้ายไปเขียนภาพประกอบเกมต่างๆ รวมถึงออกแบบตัวละครงานดังหลายๆ เรื่อง อาทิ Blood: The Last Vampire, อาจารย์ฮาระ คาสุฮิโระ เคยวาดมังงะไว้สองเรื่อง แต่หลายคนจะจดจำผลงานของอาจารย์ที่เขียนภาพประกอบ & ออกแบบตัวละครให้เรื่อง Log Horizon กับ Gundam Build Divers ฯลฯ

หรือนักเขียนมังงะบางท่านก็มีอาชีพรองควบคู่ไปด้วยย ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์ยาซาว่า นาโอะ ผู้เขียนมังงะเรื่อง Wedding Peach เป็นครูสอนเขียนมังงะทั้งแบบสดและแบบออนไลน์ที่โรงเรียน Manga School Nakano International, ส่วนนักเขียนมังงะคนอื่น อาจจะเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย คอยแบ่งปันประสบบการณ์ด้านศิลปะการเล่าเรื่องให้กับนักวาดรุ่นต่อๆ ไป ตัวอย่างที่โดดเด่น อาทิ อาจารย์ทาเคมิยะ เคย์โกะ (ผู้วาด Terra He/Toward The Terra) เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเกียวโตเซย์กะ หรือ อาจารย์จิบะ เท็ตสึยะ (ผู้วาด โจ สิงห์สังเวียน) เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยศิลปะบุนเซย์ในจังหวัดโทชิกิ

ภาพจาก – Amazon.com

สำหรับท่านที่อยากลงลึกเรื่องการใช้เงินของนักเขียนมังงะชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างไร ขอแนะนำให้ลองหา Comic Essay เรื่อง Manga Poverty/Manga Binbo ของอาจารย์ซาโต้ ชูโฮ ผู้เขียน Say Hello To Black Jack ที่เขียนเจาะลึกเรื่องนี้อย่างละเอียดและเป็นมุมมองจากฝั่งนักเขียนมังงะที่ประสบความสำเร็จแล้วด้วย และถ้าหากระแวงว่านักเขียนมังงะเหล่านี้จะหายตัวไปจากวงการเมื่อใด ก็อย่าลืมอุดหนุนผลงานของพวกเขา เพราะผู้อ่านทุกท่านก็ถือว่าเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญอย่างมากของอุตสาหกรรมมังะครับ

เรียบเรียงจาก: Manga Answerman – How Do Manga Authors Get By When They’re Not Publishing Something?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*