Answerman – ความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม ส่งผลต่อการขายอนิเมะหรือไม่?

Share

Matt ถาม:

ผมสงงสัยว่านานแล้วว่าผู้ถือสิทธิ์จากญี่ปุ่นบางเจ้าคิดว่างานของพวกเขาจะเป็นที่นิยมในอเมริกาได้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นที่นิยมของคนกลุ่มเล็กๆ เพราะรายการเหล่านั้นอ้างอิงวัฒนธรรมญี่ปุ่นอยู่มาก ตัวอย่างแบบอนิเมะเรื่อง Yokai Watch (กับเกมด้วย) ของทาง Level-5 แล้วก็การ์ตูนคลาสสิคแบบ โดราเอมอน ทำไมบริษัทเจ้าของสิทธิ์บางเจ้าถึงคิดว่าการประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นจะต้องได้รับความสำเร็จเช่นเดียวกันในต่างประเทศด้วย?

Answerman ตอบ:

ความแตกต่างด้านวัฒนธรรมของญี่ปุ่นกับตลาดระดับนานาชาติยังเป็นอะไรที่บริษัทเจ้าของสิทธิ์จากญี่ปุ่นยังตีโจทย์ได้ไม่แตกดีนัก เพราะถ้ามองจากมุมของบริษัทเองมันก็ยากที่จะพูดว่า งานชิ้นไหนที่ ‘มีความเป็นญี่ปุ่นมากเกินไป’ สำหรับผู้บริโภคที่อยู่ในประเทศอื่นๆ ซึ่งถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว ต่อให้คนที่อยู่ในชาติอื่นๆ ก็ยังบอกกลับไปยังชาวญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ดีว่ามีเส้นแบ่งอยู่ตรงจุดไหน

ภาพจาก – Impawards.com

แต่บางทีเรื่องวัฒนธรรมเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด ลองมองย้อนไปยังอนิเมะที่ได้รับความนิยมและชื่นชมจากผู้ชมต่างชาติ แถม ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ ยังเป็นภาพยนตร์อนิเมะจากญี่ปุ่นเพียงเรื่องเดียวที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมกลับไปได้อย่าง Spirited Away ที่เดินเรื่องโดยอ้างอิงปกรณัมของทางญี่ปุ่น (ตามท้องเรื่องดำเนินอยู่ในโรงอาบน้ำของเหล่าโยไค) เป็นการเล่าเปรียบเปรยระหว่างวัฒนธรรมยุคเก่ากับใหม่ (เทียบเคียง วัฒนธรรมยุคเอโดะ กับ ช่วงเศรษฐกิจญี่ปุ่นรุ่งเรื่องในช่วงปี 1980 เป็นอาทิ) และตัวละครต่างๆ ใช้ชีวิตกับทานอาหารที่ไม่คุ้นเคยสำหรับคนที่ไม่รู้จักวัฒนธรรมญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย

ดังนั้นบางเรื่องที่ ‘หน้าหนัง’ มีความเป็นญี่ปุ่นสูงๆ อย่าง Yokai Watch หรือ Doraemon แต่ชาวต่างชาติอาจจะยังชอบมันเพราะไม่ใช่ว่าคนดูจะต้องเข้าใจวัฒนธรรมทั้งหมด แต่ขอให้เรื่องราวในเรื่องนั้นทำให้คนดูสามารถ ‘หลุด’ เข้าไปอยู่ในโลกที่ไม่คุ้นเคยได้อย่างสนุกสนานก็เพยีงพอ

ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน อาจจะฮิตจนมีภาพยนตร์มากกว่า 20 ภาค แต่กลับทำตลาดในอเมริกาไม่ได้ดีเท่าไหร่นัก

ในทางกลับกัน บางเรื่องที่มี หน้าหนัง เป็นเรื่องที่น่าจะเข้าใจร่วมกันได้ง่ายๆ ก็อาจจะบูมบ้างในบางประเทศ แต่กลับเงียบกริบปั้นกระแสแทบไม่ออกในหลายประเทศ อย่างเรี่อง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ที่ดำเนินเรื่องด้วยคดีฆาตกรรมที่แทบทั่วทั้งโลกก็มีงานวรณณกรรมแนวรหัสคดีให้ติดตามกัน และผลงานก็ได้รับความนิยมทั้งในบ้านเกิด ต่างประเทศหลายๆ ประเทศ (อย่างบ้านเรา) แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในอเมริกาเลย ซึ่งคาดกันว่าเนื้อเรื่องแนวรหัสคดีที่เต็มไปด้วยคดีโหดอาจจะไม่ถูกจริตคนอ่าน หรือตัวละครที่ดีไซน์ไม่ดึงดูดโอตาคุฝรั่ง แต่ก็ไม่มีใครมั่นใจนักว่าสาเหตุอะไรกันแน่ที่ทำให้ โคนัน ไม่บูมนักในฝั่งฝรั่ง

การประเมินการว่ารายการอะไรที่จะดังในระดับนานาชาติ ทั้งโปรดิวเซอร์จากญี่ปุ่น, ผู้จัดจำหน่ายในต่างประเทศรวมถึงผู้ชมทั้งหลาย ทำได้เพียงแค่คาดการณ์เท่านั้นว่ามันจะดังหรือไม่, โดยส่วนใหญ่ฝั่งโปรดิวเซอร์ญี่ปุ่นจะเดาทางได้ว่าคนดูในบ้านเกิดของตัวเองจะเป็นอย่างไร พวกเขารู้ว่าตลาดในแต่ละชาตินั้นไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ถ้าตลาดหนึ่งปัง อีกตลาดอาจจะแป้กก็ได้ (ยกตัวอย่างเช่น Bakugan ที่ญี่ปุ่นแป้กมาก แต่ในอเมริกาได้รับความนิยมสูง) ส่วนผู้จัดจำหน่ายในต่างประเทศก็อาจจะพอคาดการณ์ได้ว่าเรื่องไหนที่จะขายได้ในพื้นที่ของตนเองมากกว่า

แม้ว่า Yokai Watch อาจจะทำตลาดในระดับนานาชาติได้ไม่ดีเท่าที่ทำได้ในบ้านเกิด แต่ผู้จัดจำหน่ายในต่างประเทศหลายคนก็ทราบดีว่า อนิเมะบางเรื่องมีความเสี่ยงสูงในการทำขายนอกประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มอนิเมะที่ฉายมานานจนมีจำนวนตอนหลักหลายร้อยตอนไปแล้วก็ตามที หรืออย่าง Doraemon ที่ฉายในเอเซียมาตั้งแต่ 20-30 ปี ก่อน แม้ว่าตัวงานจะถูกดัดแปลงให้ชาติตะวันตกได้เข้าถึงมากขึ้น แต่ก็เป็นไปได้ยากที่อนิเมะเรื่องนี้จะฮิตในอเมริกาแบบเดียวกับในเอเซีย

ก็ขอย้ำอีกสักครั้งว่าในมุมของเรา เราคิดว่า ‘ความแตกต่างทางวัฒนธรรม’ ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การ์ตูนเรื่องต่างๆ ‘ไม่ดัง ‘อย่าง Dragon Ball ที่ดังไปทั่วโลก ก็อ้างอิงมาจากตำนานไซอิ๋วของประเทศจีน หรือ Your Name. ก็มีการอ้างอิงความเชื่อศาสนาชินโตปนกับศาสนาพุทธ แต่คนดูทั่วโลกก็ยังเข้าใจร่วมกันได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ ‘ความแตกต่างทางวัฒนธรรม’ กับปัจจัยอย่างอื่นๆ ที่บางครั้งอาจจะไม่มีมาตรวัดนั้น ยังส่งผลต่อ  ‘การขาย’ ของการ์ตูนแต่ละเรื่องในพื้นที่ต่างๆ กันอยู่ ไม่มากก็น้อย

เรียบเรียงจาก: Answerman – How Do Japanese Producers Factor Cultural Differences Into Their Sales Plans?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*