Answerman – คนทำงานในญี่ปุ่นอ่านการ์ตูนกันจริงๆ เหรอ

Share

Vithuyan ถาม :

ฉันได้ยินว่าการ์ตูนเป็นที่นิยมของเหล่ามนุษย์เงินเดือนในญี่ปุ่นจริงๆ เหรอ ?

 

Answerman ตอบ:

ใช่แล้ว แต่กลุ่มนักอ่านที่เป็นคนทำงานอาจจะไม่ได้อ่าน โชเน็นจัมพ์ แบบที่หลายคนเข้าใจกัน เพราะกลุ่มคนทำงานจะมีการ์ตูนแนวเซย์เน็น (青年漫画 Seinen Manga ตามปกติคำว่า  เซย์เน็น จะหมายถึง ‘ยุวชน’ หรือ ‘วัยหนุ่มสาว’  แต่ในกรณีของมังงะนั้นจะหมายถึงการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่เพศชาย) และมักจะอ่านนิตยสารการ์ตูนแนวนี้ระหว่างที่เดินทางบนรถไฟหรือรถเมล์ ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องธรรมดาสามัญสำหรับชาวญี่ปุ่น นิตยสารอย่าง Young Magazine รายสัปดาห์ (สนพ. โคดันฉะ) Young Jump รายสัปดาห์ (สนพ. ชูเอย์ฉะ) และ Big Comic Original (สนพ. โชกากุคัง) คือนิตยสารการ์ตูนกลุ่มเซย์เน็น แม้ว่ายอดขายอาจจะไม่ได้ดูดีแบบพี่น้องร่วมค่ายสายโชเน็น อย่างเช่น  Young Magazine จะมียอดตีพิมพ์เพียง 1 ใน 3 ของ โชเน็นจัมพ์ที่ถือว่าเป็นนิตยสารการ์ตูนที่ขายดีที่สุด แต่ทว่าการ์ตูนที่อยู่ภายในนิตยสารการ์ตูนสายเซย์เน็นนั้น ได้รับความนิยมไม่หย่อนไปกว่าการ์ตูนสายโชเน็นแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นการจะเห็นคุณลุงวัยกลางคนในชุดสูทในรถไฟหรือรถเมล์อ่านการ์ตูนพวกนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกตา

One Punch Man เป็นตัวอย่างที่ดีของการ์ตูนเซย์เน็น แต่มักจะโดนเข้าใจผิดว่าเป็นโชเน็น

กลับมาที่การ์ตูนกลุ่มเซย์เน็นกันต่อ ถึงจะบอกว่าเป็นแนวเหมาะสำหรับผู้ใหญ่แต่หลายครั้ง เซย์เน็น ก็แยกออกจาก โชเน็น ได้อย่างยากยิ่ง ด้วยเหตุที่ธีมหลักของเรื่องจะมีบรรยากาศคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น เน้นการต่อสู้, ใช้พลังเหนือธรรมชาติ, อยู่ในโลกแฟนตาซี, แนวกีฬา หรือแนวรักโรแมนติก ทุกอย่างดูแล้วใกล้เคียงกับโชเน็นเสียเหลือเกิน — สัดส่วนที่ทำให้ เซย์เน็น ฉีกออกจาก โชเน็น ได้ชัดก็คือ การ์ตูนเซย์เน็น จะเดินเรื่องจริงจังกว่า มืดมนกว่า ดูเจนจัดในทางโลก ทั้งในแง่การใช้ชีวิต รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ที่มีเรื่องเพศมาข้องเกี่ยวมากกว่า  การ์ตูนสายเซย์เน็นจะมีแนวต่อสู้แบบเป็นกลุ่มๆ หรือแข่งขันเป็นรอบๆ (ในลักษณะเรื่อง คนเก่งทะลุโลก หรือ เปลวผ่าปฐพี) และถึงจะพอมีเนื้อเรื่องที่ดำเนินในโรงเรียนมัธยมปลายอยู่ให้เห็นบ้าง แต่การ์ตูนเซย์เน็นก็จะดำเนินเรื่องในโรงเรียนน้อยกว่าฝั่งโชเน็น

วุ่นรักนักดนตรี ตัวอย่างการ์ตูนสายโจะเซย์ มาครบทั้งเรื่องงาน (ในฝั่งนักดนตรีคลาสสิค) และความรัก

ส่วนฝั่งผู้หญิงก็มีการ์ตูนแนวผู้ใหญ่เช่นกัน นั่นก็คือการ์ตูนแนว โจะเซย์ (女性漫画) กระนั้นหากเทียบความนิยมกับแนวอื่นๆ สายโจะเซย์ก็มียอดตีพิมพ์ที่น่าน้อยเนื้อต่ำใจกว่า เทียบกับโชเน็นจัมพ์สายโชเน็นที่มียอดตีพิมพ์สูงถึง  3,000,000 เล่ม ต่อสัปดาห์ Young Magazine รายสัปดาห์ที่เป็นสายเซย์เน็นจะมียอดพิมพ์ 1,000,000 ต่อ สัปดาห์ นิตยสาร You กับ Be-Love ที่เป็นสายโจะเซย์ มียอดตีพิมพ์สองหัวรวมกันอยู่แค่ 200,000 เล่ม ต่อสัปดาห์เท่านั้น (ส่วนนิตยสารสายโชโจหรือการ์ตูนผู้หญิงทั่วไปจะอยู่ที่ราว 400,000 เล่มต่อหนี่งหัว) การ์ตูนสายโจะเซย์ที่หลายคนน่าจะรู้จักก็ Nana, Nodame Cantabille, Honey And Clover, Usagi Drop

เซ็กส์ กับ ความรุนแรง ถูกนำมาใช้งานในการ์ตูนเซย์เน็น & โจะเซย์ มากขึ้น บางครั้งก็มากจนต้องมีการเซ็นเซอร์ปกกันบ้าง

นอกจากนั้น การ์ตูนเซย์เน็นและโจะเซย์จะข้ามไปสำรวจ ‘โลกแห่งการทำงานของผู้ใหญ่’ มากขึ้น ไม่ว่าจะเล่าเรื่อง การเรียนการสอนในฐานะครูของโรงเรียน, การทำอาหาร, การวางแผนการในการทำงานแบบต่างๆ ส่งผลให้เรื่องราวในฝั่งวงการแพทย์ กับ ขั้นตอนการสืบสวนแบบจริงจัง (ไม่ว่าจะเป็นนักสืบเอกชน หรือ ตำรวจ) รวมไปถึงเรื่องราวสายการเมือง สามารถใช้เป็นธีมหลักของการ์ตูนกลุ่มเซย์เน็นได้ ความรุนแรงและเรื่องทางเพศก็สามารถยกมาเล่าแบบชัดแจ้งขึ้น แล้วเรื่องทางเพศก็ไม่ใช่จะยกมาเขียนได้แต่ในแง่แสดงความรักเท่านั้น แต่ยังลากยาวไปถึงการใช้เรื่องทางเพศในการหาผลประโยชน์ให้กับตัวละครก็เขียนได้ ด้วยเหตุที่ว่ากลุ่มผู้อ่านเป็นผู้ใหญ่ทำให้เนื้อหานำเสนอได้ลึกมากขึ้น และมีข้อจำกัดจากกองบรรณาธิการลดลง ถ้าเทียบกับฝั่งโชเน็นที่ต้องระวังเนื้อหา ‘แรงเกินไป’ หรือ ‘จริงเกินไป’ จนพ่อแม่ผู้ปกครองเพ่งเล็ง

นี่เป็นเฟรนด์แบบเซย์เน็นนะ!

แม้ว่าการ์ตูนเซย์เน็นส่วนใหญ่จะไม่ได้ถูกทำเป็นอนิเมะที่โด่งดัง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีการ์ตูนแนวนี้ที่ฮิตระดับมหาศาลเอาเสียเลย ตัวอย่างการ์ตูนเซย์เน็นที่กลายเป็นอนิเมะยอดฮิต อาทิ One-Punch Man, โรงเรียนคุกนรก, Tokyo Ghoul, คุมะมิโกะ คนทรงหมี, Ghost In The Shell, Monster (ของอาจารย์อุราซาว่า นาโอกิ), xxxHolic, Gantz, Elfen Lied, Berserk, Akira รวมไปถึง Kemono Friends ฉบับมังงะก็ถือว่าเป็นการ์ตูนเซย์เน็นเหมือนกัน

ความหลากหลายของ มังงะ หรือ หนังสือการ์ตูนนั้นมีอะไรมากกว่าการ์ตูนแนวโชเน็นที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลก และหลายครั้งการ์ตูนเซย์เน็นหลายเรื่องก็ถูกเข้าใจว่าเป็นการ์ตูนโชเน็นก็ตามที อย่างไรเสีย การ์ตูนเซย์เน็นกับโจะเซย์ก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นทั้งในตลาดญี่ปุ่นและนอกประเทศ ด้วยเหตุที่ว่านักอ่านที่เคยเป็นเด็กปี 90 ทั่วโลกต่างกลายเป็นมนุษย์ทำงานกันแล้ว และหลายครั้งการ์ตูนแนวเซย์เน็นกับโจะเซย์ก็ตอบโจทย์ในการเล่าเรื่องที่สอดคล้องกับจังหวะชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับคนที่ยังไม่เคยลองอ่านการ์ตูนสองแนวดังกล่าว เราอยากแนะนำให้ทดลองอ่านกันบ้าง เพราะอย่างน้อยที่สุดถ้าคุณได้อ่านการ์ตูนแนวเซย์เน็นกับโจะเซย์ คุณจะถามตัวเองน้อยลงว่า “ทำงานแล้วยังอ่านการ์ตูนได้ไหม” เพราะการ์ตูนสายนี้คุยเรื่องการทำงานแบบที่ ‘ผู้ใหญ่’ หลายคนเป็นอยู่ รวมถึงการ์ตูนสองสายนี้ หลายๆ ครั้งได้ข้ามเส้นจาก หนังสืออ่านเล่น ไปเป็น วรรณกรรม ที่ผ่านการกลั่นและกรององก์ความรู้ต่างๆ มาลงในเรื่องแล้วนั่นเอง

เรียบเรียงจาก : Answerman – Do Salarymen Really Read Manga?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*