ถาม-ตอบ เรื่อง เฮเซย์ไรเดอร์ กับ โปรดิวเซอร์และผู้กำกับสเปเชียลเอฟคท์จาก โตเอะ คอมปานี

Share

ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ต้อนรับแขกรับเชิญพิเศษจากทาง บริษัท โตเอะ จากประเทศญี่ปุ่น และทั้งสองท่านนั้นเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับ มาสค์ไรเดอร์ ในช่วงปี 2543-2562 หรือที่หลาคนเรียกกันง่ายๆ ว่า เฮเซย์ไรเดอร์ อย่างมาก แขกรับเชิญที่เราพูดถึงก็คือ คุณชิราคุระ ชินอิจิโร่ โปรดิวเซอร์ของซีรีส์มาสค์ไรเดอร์ บริษัท โตเอะ คอมปานี จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) และ คุณบุตสึดะ ฮิโรชิ ผู้กำกับสเปเชี่ยลเอฟเฟคท์ของเฮเซย์ไรเดอร์ บริษัท โทคุซัตสึ แล็บ จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น)

แล้วในวันที่ 16 ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2562 ทั้งแขกรับเชิญพิเศษจากแดนอาทิตย์อุทัยทั้งสองท่านก็ได้มาร่วมเสวนาตอบคำถามคาใจแฟนมาสค์ไรเดอร์กันที่โรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งหลายท่านก็ได้ไปร่วมรับฟังแบบสดๆ กันมาด้วยตัวเอง และเราก็เชื่อว่ามีอีกหลายท่านที่อยากจะรับทราบว่า การพูดคุยในวันนั้นมีอะไรบาก

ด้วยเหตุนี้ทีมงาน DEXClub.com จึงทำการสรุปเนื้อหาส่วนหนึ่งที่พูดคุยกันในโรงภาพยนตร์สกาลามาให้ติดตามกัน โดยในวันนั้นมีคุณกำปั้น เป็น พิธีกรดำเนินรายการ และมี คุณกมลอร คินิมาน หรือ คุณเอ็ม มาเป็นล่ามแปลภาษา ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามอ่านกันต่อได้เลย

กำปั้น: วันนี้ถือว่าเป็นโอกาสพิเศษสำหรับพวกเราที่อยู่ใน ณ ที่นี้ ที่จะได้พูดคุยกับโปรดิวเซอร์ และ ผู้กำกับสเปเชี่ยลเอฟเฟคท์ของซีรี่ส์มาสค์ไรเดอร์ซึ่งถือได้ว่าเป็นทีมงานที่มากความสามารถมากจริง ๆ และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ขอเชิญทุกท่านพบกับ โปรดิวเซอร์ คุณ ชิราคุระ ชินอิจิโร่ และ ผู้กำกับสเปเชี่ยลเอฟเฟคท์ของเฮเซย์ไรเดอร์ คุณ บุตสึดะ ฮิโรชิ ครับ

ชิราคุระ: สวัสดีครับ

กำปั้น: เอาล่ะ วันนี้เดี๋ยวเราก็จะมีคำถามที่หลายคนอยากจะรู้ว่า ความต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นต่อๆ ไปกับซีรีส์มาสค์ไรเดอร์จะเป็นอย่างไร จากปากของโปรดิวเซอร์และผู้กำกับสเปเชี่ยลเอฟเฟคท์ เพราะฉะนั้นแล้วก่อนอื่นเลย ต้องรบกวนทั้งสองท่านแนะนำตัวสักนิดนึงครับ

ชิราคุระ: สวัสดีครับ (พูดเป็นภาษาไทยก่อนจะพูดเป็นภาษาญี่ปุ่น) ชิราคุระ ชินอิจิโร่ ครับ ทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ของมาสค์ไรเดอร์ครับผม วันนี้ดีใจที่ได้พบกับชาวไทยทุกท่านนะครับ และจากนี้ไปจะมีการฉายภาพยนตร์มาสค์ไรเดอร์จิโอ (Masked Rider Zi-O The Movie Over Quartzer) ต่อด้วย ก็ขอให้รับชมกันให้สนุกนะครับ

บุตสึดะ: สวัสดีครับ ผมชื่อบุตสึดะครับ (พูดเป็นภาษาไทย ก่อนจะพูดเป็นภาษาญี่ปุ่น) เป็นผู้กำกับสเปเชียลเอฟเฟคท์ ของซีรีส์มาสค์ไรเดอร์ และ ซีรีส์ซูเปอร์เซนไตครับ ทำงานด้านนีมาสามสิบปีแล้วครับ

กำปั้น: ทั้งสองท่านก็ถือว่าเป็นอีกสองคนที่เป็นผู้สร้างซีรีส์มาสค์ไรเดอร์ และ ภาพยนตร์อีกหลายภาคมากมาย อยากจะทราบว่าทั้งสองท่านมาร่วมงานกับทางโตเอะคอมปะนีได้อย่างครับ?

ชิราคุระ: อันนี้ขอให้รุ่นพี่ (คุณบุตสึดะ) ตอบก่อนนะครับ

บุตสึดะ: อ้อ…เอ่อ สมัยนั้นผมส่งจดหมายไปสมัครงานกับคุณฮิรายามะ (คุณฮิรายามะ โทรุ) โปรดิวเซอร์ท่านแรกของซีรีส์มาสค์ไรเดอร์ โดยบอกไปว่าผมดูซีรีส์มาตั้งแต่เด็กอยากทำงานกับซีรีส์นี้มาก พอดีโปรดิวเซอร์ (คุณฮิรายามะ) ใจดีมาก เลยได้มาทำงานตรงนี้ครับ

ชิราคุระ: สำหรับผมเคยสมัยตอนเป็นนักศึกษาได้ดูซีรีส์มาสค์ไรเดอร์แล้วก็ชอบมาก ก็เลยไปสมัครงานที่โตเอะ แล้วก็ระบุว่าอยากทำงานกับเรื่องนี้ก็เลยได้รับโอกาสนั้นครับ

กำปั้น: โอ้โห เกิดจากความชอบแล้วก็ความรักส่วนตัวนั่นเอง ทีนี้อยากจะทราบว่าในตำแหน่งของโปรดิวเซอร์และผู้กำกับสเปเชียลเอฟเฟคท์เนี่ย มีอะไรบ้างครับ

ชิราคุระ: คำถามยากนะครับเนี่ย เอ่อ…โดยส่วนใหญ่แล้วทีมงานคนอื่นที่ไม่ใช่โปรดิวเซอร์คนมักจะเดาได้ใช่ไหมครับว่าจะทำหน้าที่อะไร อยากผู้จัดหานักแสดง ก็คัดตัวนักแสดง ผู้กำกับก็ทำหน้าที่กำกับ แต่โปรดิวเซอร์นั้นจะทำสิ่งที่คนอื่นไม่ได้ทำ หรือทำสิ่งที่คนอื่นไม่ได้มองเห็น อย่างเช่น การล้างห้องน้ำ เปลี่ยนทิชชู่ เสิร์ฟชา (ผู้ชมหัวเราะลั่น)

กำปั้น: นี่คือหน้าที่หลักของโปรดิวเซอร์เลยเหรอฮะ

ชิราคุระ: งานหลักของผมคือเสิร์ฟชาเลยครับ (ผู้ชมหัวเราะ) เรื่องนี้รุ่นน้องของผมมักจะมาถามบ่อยๆ นะครับว่าโปรดิวเซอร์ส่วนใหญ่จะทำอะไร ผมก็ตอบว่า ‘เสิร์ฟชา’ นี่ล่ะครับ รุ่นน้องก็จะบอกว่า ‘อย่ามาล้อเล่นน่า’ แต่พอสามสิบปีผ่านไปรุ่นน้องก็บอกกับผมว่า ‘เป็นเรื่องจริงด้วยแฮะ’ (ผู้ชมหัวเราะ)

กำปั้น: ทีนี้ผู้กำกับสเปเชียลเอฟคท์ของเราจะทำอะไรบ้างครับ?

บุตสึดะ: งานของผมจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การวางแผนงานซีรีส์เลยครับว่า แต่ละภาคจะต้องใช้ เทคนิคพิเศษและ CG แบบไหน อย่าง มาสค์ไรเดอร์ W แบบนี้ค่ะ ที่บางฉาก (เช่น กังหันลมเมืองฟูโตะ หรือ พาหนะของ W) จะต้องใช้ CG ทั้งหมดเลย จากนั้นในการทำงานก็ต้องควบคุมภาพรวมของซีรีส์ที่ออกอากาศทุกสัปดาห์ ตั้งแต่เริ่มทำจนถึงเสร็จ ก็เป็นงานที่ค่อนข้างแน่พอสมควรครับ

กำปั้น: อยากจะทราบว่าผลงานชิ้นแรกของทั้งสองท่านคืองานชิ้นไหน และมีผลตอบรับจากทางโตเอะคอมปะนีอย่างไรบ้างครับ

ชิราคุระ: ขอผ่านให้รุ่นพี่ก่อนอีกครั้งครับ

บุตสึดะ: งานแรกของผมคือ มาสค์ไรเดอร์แบล็ค ที่ออกอากาศที่ญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2530 ครับ ผมทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ และภาคดังกล่าวเป็นมาสค์ไรเดอร์ภาคใหม่หลังจากที่หายไปราว 4-5 ปี คนดูเลยรอคอยที่จะได้ชมกัน เข็มขัดของภาคนั้นจะมีลูกเล่นที่ตัววงกลมแดงๆ จะหมุนได้ ก็จะมีคนดูไปลองของเล่นว่ามันหมุนได้จริงไหม ตอนนั้นก็ทำงานสนุกดีครับ แต่ผลของเอฟเฟคท์ที่ออกมาในงานถือว่าสำเร็จได้ราวๆ ครึ่งหนึ่งของที่ตั้งใจครับ

กำปั้น: แล้วคุณชิราคุระล่ะครับ

ชิราคุระ: งานแรกของผมคือภาค ชินมาสค์ไรเดอร์ ครับ ที่ออกมาเป็นตัว Original Video ที่วางจำหน่ายในปี 2535 ครับ ก็เป็นครั้งแรกที่ผมได้เจอกับอาจารย์อิชิโนโมริ (อิชิโนโมริ โชทาโร่ – บิดาของซีรีส์มาสค์ไรเดอร์) ก็เป็นงานที่ตั้งใจจะทำเป็นไรเดอร์ที่สมจริงมากขึ้น ไม่มีฉากพูด ‘แปลงร่าง’ เนื้อเรื่องก็หนักหน่วง ส่วนคอมเมนท์จากผู้ชมนั้นจะออกมาบอกว่า ก็สนุกดีนะ แต่ไม่เหมือนมาสค์ไรเดอร์เลย ไม่มีฉากแปลงร่าง แล้วก็ไม่มีฉากขับพาหนะด้วย

กำปั้น: เราได้ทราบกันไปแล้วว่าผลงานชิ้นแรกที่ทั้งสองท่านมีส่วนร่วมด้วยเป็นอะไร เลยอยากจะทราบต่อว่าผลงานที่สร้างชื่อเสียงแล้วก็โดดเด่น หรือที่ทั้งสองท่านภูมิใจมากๆ คืองานชิ้นไหนครับ?

ชิราคุระ: งานที่ถือว่าสร้างชื่อเหรอครับ ก็คือผลงานที่กำลังจะฉายต่อ (พูดถึง มาสค์ไรเดอร์จิโอ) นะครับ (หัวเราะ)

บุตสึดะ: สำหรับผมก็เป็นผลงานฉลองครบรอบสิบปีของฝั่งเฮเซไรเดอร์ มาสค์ไรเดอร์ดีเคดครับ

(ผู้ชมหัวเราะ)

ชิราคุระ: ทุกคนหัวเราะกันทำไมหรือครับ (หัวเราะ)

บุตสึดะ: ก็คือในภาคนั้นจะเป็นการรวมมาสค์ไรเดอร์จากทุกภาคก่อนหน้า ซึ่งผมมีส่วนรวมในการทำ CG ‘ไฟนอลฟอร์มไรด์’ ของมาสค์ไรเดอร์หลายๆ ตัวก็เลยสนุกมากกับภาคนั้นครับ

กำปั้น: หลังจากที่ได้ฟังมา เชื่อว่าทุกคนก็คงจะพอรู้จักคุณชิราคุระ และคุณบุตสึดะมากขึ้นแล้วนะครับ ต่อไปจะเป็นคำถามที่เกี่ยวกับมาสค์ไรเดอร์ยุคเฮเซย์ที่ส่งมาจากทางบ้านซึ่งเราได้คัดเลือกขึ้นมาถาม เพราะฉะนั้นแล้วอันนี้ Exclusive มากๆ เลยนะครับ

กำปั้น: คำถามแรกนะครับ ที่เราได้รับชมในซีรีส์ส่วนใหญ่พระเอกนั้นจะเป็นหนุ่มหล่อหน้าตาดี เพราะต้องการจะดึงดูดผู้ชมกลุ่มใหม่ๆ ใช่หรือเปล่า ?

ชิราคุระ: จริงๆ ตั้งแต่มาสค์ไรเดอร์ภาคแรก ก็เป็นหนุ่มหล่อหน้าตาดีอยู่แล้วนะครับ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างไรเลยครับ แต่เป็นมาสค์ไรเดอร์เป็นหนุ่มหล่อมาเกือบ 50 ปี แล้วครับ

กำปั้น: ในวันที่ Casting นักแสดงซีรีส์มาสค์ไรเดอร์ยุคเฮเซย์ ใครบ้างที่คุณเจอครั้งแรกแล้วรู้สึกว่าเขานี่แหละคือมาสค์ไรเดอร์บ้าง แบบคนนี้แหละใช่เลย มีบ้างไหมครับ

ชิราคุระ: เอ่อ… คนที่เจอตัวแล้วก็รู้สึกใช่เลย ก็เป็น มาสค์ไรเดอร์คาบูโตะ กันนะครับ ตอนที่เจอคุณมิสึชะมิ ฮิโระ เดินเข้ามา ในห้องแคสท์ก็บอกว่า ไม่ต้องออดิชั่นแล้วล่ะ เอาคนนี้เลย (หัวเราะ)

กำปั้น: งั้นอีกหนึ่งคำถามครับ จากเมื่อกี้ที่คุุยกันว่า คนนี้แหละเป็นไรเดอร์ได้เลย แล้วมีตัวละครไหนบ้างครับที่รู้สึกว่าหาคนมารับบทได้ยากเหลือเกิน

ชิราคุระ: ที่ยากที่สุดก็คงเป็น มาสค์ไรเดอร์เดนโอ ครับ ที่ยากก็คือเราต้องหานักแสดงหน้าใหม่มาเดบิวในบทนี้แต่บทของตัวละครก็ค่อนข้างยาก ก็เลยมีการออดิชั่นหลายครั้ง จนกระทั่งโชคชะตาพาเราไปเจอกับ คุณซาโต้ ทาเครุ ครับ เพราะถ้าไม่ได้คุณซาโต้ ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าบทนี้จะออกมาอย่างนี้หรือเปล่า

กำปั้น: ทีนี้ขออนุญาตถามคุณบุตสึดะครับ ในส่วนของสเปเชี่ยลเอฟเฟคท์ มาสค์ไรเดอร์ยุคเฮเซย์เรื่องไหนที่คิดว่าทำยากที่สุดเลยครับ

บุตสึดะ: ภาคที่ทำสเปเชี่่ยลเอฟเฟคท์ยากที่สุดก็คือ ภาคเดนโอ โดยเฉพาะ เดนไลเนอร์ ครับ

ชิราคุระ: (เสียงอ่อย) ขอโทษด้วยครับ

บุตสึดะ: ตอนแรกที่จะใช้รถไฟเป็นธีม ก็มีการถกเถียงกัน แล้วก็มีรถไฟอยู่สี่ห้าแบบ

ชิราคุระ: (เสียงอ่อย) ขอโทษด้วยครับ

บุตสึดะ: บางขบวนก็ต้องบินขึ้นไปบนฟ้า บางขบวนก็แล่นลงทะเล บางขบวนก็แปลงร่างเป็นนักซูโม่ บางขบวนก็แปลงร่างเป็นมังกร เป็นงานที่หนักมากๆ แต่ก็เป็นความทรงจำที่ดีเช่นกันครับ

กำปั้น: ขออนุญาตกลับมาถามคุณชิราคุระะครับ เราจะได้เห็นว่าในมาสค์ไรเดอร์แต่ละคนจะมีคอนเซปท์ที่โดดเด่น เช่น คูกะ มาจากด้วงคุวางาตะ, , ริวคิ มาจากมังกร, ไฟซ์ มาจาก ฉลาม อยากจะทราบว่าใครเป็นคนที่ดูแล และตัดสินใจในแต่ละคอนเซปท์เหล่านี้ครับ เพราะซีรีส์มาสค์ไรเดอร์ไม่ได้เป็นซีรีส์ที่ถ่ายทำสัปดาห์ต่อสัปดาห์เหมือนละครทั่วไป แต่อาจจะต้องถ่ายทำล่วงหน้าถึงครึ่งปีก่อนออกอากาศ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคอนเซปท์นี้ใช้ได้หรือเปล่า

ชิราคุระ: ถ้าถามว่า ใครเป็นคนคิดคอนเซปท์ ก็เป็นหน้าที่ของโปรดิวเซอร์ครับ ที่ต้องมีคอนเซปท์เล่าก็เพราะต้องมีทิศทางในการดีไซน์ทั้งตัวละครและเนื้อเรื่องให้ออกมาทางเดียวกันครับ

ส่วนคำถามที่ว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าคอนเซปท์ที่คิดนั้นใช้ได้หรือเปล่า จะได้รับความนิยมไหม ทางเราไม่ได้ตั้งธงในใจแบบนั้นครับ เพราะคอนเซปท์ที่คิดนั้นจะเป็นภาพรวมคร่าวๆ ก่อน อย่างเช่น ภาค จิโอ มีคอนเซปท์ตั้งต้นเป็น ‘เวลา’ แล้วค่อยมีการแตกงานจาก ‘เวลา’ เป็นงานรูปธรรมอีกที หรือ อย่างตอนนี้ที่กำลังฉายอยู่ก็คือภาค เซโร่วัน ก็มาจากคอนเซปท์ตั้งต้นเป็น ‘ยุคสมัยใหม่’ เราควรจะทำอะไรต่อดี ก็คือไม่ได้คิดว่าอะไรจะฮิต แต่มองคอนเซปท์เป็นภาพรวมมากกว่าครับ

กำปั้น: คำถามต่อไปขอกลับไปถามคุณบุตสึดะนะครับ อยากจะถามว่าในฉากที่มีมาสค์ไรเดอร์รวมตัวกันหลายคนในฉากเดียว ทีมสเปเชี่ยลเอฟเฟคท์ทำงานยากกันไหมครับ

บุตสึดะ: เดิมที มาสค์ไรเดอร์มักจะออกมาสู้คนเดียว แต่ตั้งแต่ภาคริวคิก็จะมีไรเดอร์ออกมาพร้อมกันหลายตัว

ชิราคุระ: (เสียงอ่อย) ขอโทษด้วยครับ (ผู้ชมหัวเราะ)

บุตสึดะ: ก็เลยเป็นครั้งแรกที่เริ่มมีความยากในการทำงาน แล้วก็มาในภาคไกมุ

ชิราคุระ: (เสียงอ่อย) ต้องขอโทษจริงๆ ด้วยครับ (ผู้ชมหัวเราะอีกครั้ง)

บุตสึดะ: ที่มีส้มมาแตกอยู่บนหัวตัวไรเดอร์ ต้องทำยังไงให้ส้มแตกบนหัวแล้วเท่นะ ถ้าส้มอย่างเดียวยังพอว่า แต่ยังมี กล้วย องุ่น ทุเรียน อีกด้วย ก็ต้องทำให้เท่ แล้วก็แตกต่างกันอีก เลยเป็นงานที่สนุกแต่ก็ยากมากครับ

กำปั้น: ขอย้อนกลับไปถามคุณชิราคุระอีกครั้งนะ มีมาสค์ไรเดอร์เรื่องไหนบ้างครับที่จะมีโอกาสทำเนื้อเรื่องต่อจากต้นฉบับ แบบที่ทำกับซีรีส์ ไรเดอร์ไทม์ มาสค์ไรเดอร์ริวคิ ครับ

ชิราคุระ: ถ้าให้พูดว่าไม่ได้คิดไว้เลย ก็คงจะไม่ใช่โอกาสแบบ 0% ขนาดนั้นครับ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อก็ขอฝากติดตามต่อไปด้วยนะครับ

กำปั้น: คำถามนี้หลายๆ คนน่าจะสงสัยและอยากจะรู้ว่าในซีรีส์ มาสค์ไรเดอร์ดีเคด นารุทากิเจ้าของประโยคเด็ดที่ว่า “มันเป็นความผิดของดีเคด” ที่ปรากฏตัวคือใครครับ แล้วเขาเกี่ยวข้องอะไรกับ คาโดยะ สึคาสะ ผู้แปลงร่างเป็นมาสค์ไรเดอร์ดีเคดครับ

(ผู้ชมหัวเราะเสียงดัง)

ชิราคุระ: ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ (ผู้ชมหัวเราะ) ผมเคยไปถามคุณโอคุดะ (คุณโอคุดะ ทัตสึฮิโตะ นักแสดงผู้รับบทเป็น นารุทากิ) ว่าบทของนายเป็นใครกัน เขาก็ตอบผมไม่ได้ รุ่นพี่ (คุณบุตสึดะ) พอจะทราบไหมครับ

บุตสึดะ: ฝ่ายสเปเชียลเอฟเฟคท์ไม่รู้อะไรเรื่องนี้เลยครับ (ผู้ชมหัวเราะ)

กำปั้น: เพราะฉะนั้นคำถามนี้ก็ เหมือนจะได้คำตอบ แต่ก็ไม่ได้คำตอบไปพร้อมๆ กันนะครับ คำถามต่อไปขอถามทั้งสองท่านนะครับ เห็นว่าการหาสถานที่ถ่ายทำในญี่ปุ่นนั้นเริ่มยากขึ้น ทั้งสองท่านคิดเห็นอย่างไรกันบ้างครับ

บุตสึดะ: พอดีตอนนี้กฎหมายเกี่ยวกับการจราจรนั้นเข้มงวดขึ้นมาก เลยทำให้มาสค์ไรเดอร์ขี่มอเตอร์ไซค์บนถนนแบบแต่ก่อนไม่ได้แล้ว ก็เลยต้องไปขอยืมพื้นที่ในการถ่ายทำมากขึ้น และหลายๆ สถานทีก็ไม่ให้ใช้เอฟเฟคท์ระเบิด เลยต้องไปทำฉากขี่มอเตอร์ไซค์พร้อมระเบิดตามภูเขาแทน ซึ่งก็หาที่ได้ยากขึ้นจริงๆ ครับ

ชิราคุระ: ตอนนี้ในโตเกียวก็มีพื้นที่คับแคบลงก็เลยทำฉากระเบิดไม่ค่อยได้ จริงๆ มีแฟนบางท่านก็บอกกับทางเราว่า ‘มาระเบิดที่ (พื้นที่) บ้านผมได้นะครับ’ ก็เคยยกกองไปถ่ายทำแต่ก็เป็นพื้นที่ที่ต้องขับรถไปสามชั่วโมง ก็คือสถานที่ถ่ายทำในญี่ปุ่นยังพอมีอยู่ครับ แต่ต้องออกเดินทางไปไกลจากโตเกียวมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

ชิราคุระ: เคยมีครั้งหนึ่งที่เราได้สถานที่อนุญาตให้ใช้ระเบิดถ่ายทำครับ เราก็เดินทางไปกัน แต่ปรากฎว่าเราลืมถุงมือสำหรับถ่ายทำไป

บุตสึดะ: เอ่อ ขอเสริมเล็กน้อยครับ ระเบิดที่เราใช้นั้นดูเหมือนอันตราย แต่จริงๆ แล้วมีเสียงดัง กับร้อนนิดหน่อย และมีผู้เชี่ยวชาญควบคุมอยู่ครับ

ชิราคุระ: ถ้ามีโอกาสมาถ่ายทำมาสค์ไรเดอร์ในเมืองไทย ใครที่สนใจที่จะไปให้ถ่ายทำฉากระเบิดที่บ้าน สามารถบอกพวกเราได้นะครับ

(ผู้ชมหัวเราะ)

กำปั้น: ขอย้อนกลับเกี่ยวกับเรื่องมาสค์ไรเดอร์ยุคเฮเซย์ยกตัวอย่างเช่นมาสค์ไรเดอร์ไกมุ เราจะได้เห็นหลายตัวละที่สามารถแปลงร่างเป็นมาสค์ไรเดอร์ได้ พอจะมีโอกาสไหมครับที่ในอนาคต ตัวละครหลักของมาสค์ไรเดอร์จะเป็นผู้หญิง หรือ LGBT ครับ ?

ชิราคุระ: การที่จะให้ตัวละครหลักเป็น ผู้หญิง นั้นเป็นไปได้ครับ ส่วนการให้ LGBT เป็นตัวละครหลักนั้น โดยส่วนตัวแล้วผมอยากจะทำครับ แต่สำหรับในตลาดโลกแล้ว ยังมีบางประเทศที่กฎหมายเกี่ยวกับเพศทางเลือกนั้นยังเข้มงวด ซึ่งอาจจะเป็นการปิดโอกาสการฉายซีรีส์มาสค์ไรเดอร์ ดังนั้นอาจจะมีโอกาสต่ำกว่าครับผม

กำปั้น: อยากจะถามคุณชิราคุระอีกคำถามครับว่า คิดอย่างไรกับซีรีส์มาสค์ไรเดอร์เมื่อเทียบกับอเมริกันฮีโร่อย่าง Marvel หรือ DC ครับ?

ชิราคุระ: ข้อแตกต่างฮีโร่จากอเมริกาของกับมาสค์ไรเดอร์ ก็คือ ฮีโร่ของอเมริกานั้นจะไม่ได้ทำการแปลงร่าง แต่มักจะเป็นคนที่พลังพิเศษอยู่แล้ว อาจจะเปลี่ยนชุดไปสู้ต่อไป แต่ฝั่งมาสค์ไรเดอร์นั้น จะเป็นคนธรรมดาที่ต้องแปลงร่างก่อนถึงจะไปสู้ได้ คนอเมริกาก็ถามผมเหมือนครับว่าทำไมคนอเมริกาถึงต้องแปลงร่างกันด้วยครับ

กำปั้น: คำถามนี้ขอสอบถามคุณบุตสึดะครับ ทีมมสเปเชี่ยลเอฟเฟคท์คิดอย่างไรเมื่อเทียบมาสค์ไรเดอร์กับฮีโร่จากทางอเมริกาครับ?

บุตสึดะ: ทางฝั่งฮอลลีวูดนั้นจะใช้สเปเชียลเอฟเฟคท์ในการถ่ายทำแบบ Full CG ทั้งฉาก ทั้งเอฟเฟคท์ได้เลย ส่วนทางมาสค์ไรเดอร์ที่ต้องถ่ายทำแล้วออกอากาศทุกอาทิตย์นั้น ผมมองว่ามีเสน่ห์อย่างหนึ่งคือการเติมเอฟเฟคท์เข้าไปในฉากที่ทำการถ่ายทำมาจากซีรีส์จริงครับ

กำปั้น: วันนี้เราก็ได้พูดคุยกับแขกรับเชิญกันอย่างเต็มที่เลย ขอขอบคุณ คุณ ชินอิจิโร่ ชิราคุระ และ คุณ บุตสึดะ ฮิโรชิ ที่มาเป็นแขกรับเชิญในงานวันนี้ รวมไปถึง คุณ กมลอร คินิมาน ที่มาเป็นล่ามให้กับเราในวันนี้ขอบพระคุณมากครับผม

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*